การทดลอง ตอน ดอกไม้เปลี่ยนสี


การทดลอง ตอน ดอกไม้เปลี่ยนสี
          ดอกไม้ที่เราเห็น หลากสีตามท้องตลาดนั้น จริง ๆ แล้วเป็นสีจริง ๆ ของดอกไม้หรือเป็นสีที่ปรุงแต่งขึ้น สำหรับการทดลองนี้ เราจะมาทดลองสร้างสีสัน ให้กับดอกไม้กัน

อุปกรณ์
1. ดอกไม้สีขาวมีก้านติดมาด้วย หรือ ต้นขึ้นฉ่าย 1 ต้น
2. น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
3. หนังยาง 1 เส้น
4. สีผสมอาหาร (สีแดงหรือสีน้ำเงิน) 1-2 หยด
5. แก้วน้ำทรงสูงบรรจุน้ำประมาณ 3 ส่วน
 
วิธีการทดลอง
1. หยดสีผสมอาหารลงในแก้วที่บรรจุน้ำ 1 – 2 หยด
2. เอียงแก้วน้ำเล็กน้อย ค่อย ๆ รินน้ำมันลงในแก้วน้ำ น้ำมันจะลอยอยู่ที่ผิวน้ำ แล้วใช้หนังยางรัดรอบแก้วน้ำ
3. ปักดอกไม้หรือต้นขึ้นฉ่ายลงในแก้วน้ำ แล้วเลื่อนตำแหน่งของหนังยางให้อยู่ที่ระดับผิวน้ำมัน
4. วางไว้ 2 วัน สังเกตสีของดอกไม้ที่เปลี่ยนไป และสังเกตระดับของน้ำที่ลดลง

         จากการทดลองเมื่อ แช่ดอกไม้ไว้ในน้ำสีข้ามวันข้ามคืน จะเห็นว่าดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์ได้เปลี่ยนสีไปแล้ว และระดับน้ำก็ลดลงมาจากตำแหน่งเดิมที่เราใช้หนังยางรัดไว้ หลายคนคงสงสัยว่า สีที่ผสมอยู่ในน้ำเคลื่อนที่ขึ้นไปได้จนถึงดอกได้อย่างไรกัน
         พืชก็เหมือนกับมนุษย์เราที่ต้องกินน้ำ กินอาหาร เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ โดยสีที่เคลื่อนที่ขึ้นไปจนทำดอกไม้เปลี่ยนสีนั้น แสดงให้เห็นว่ามีการลำเลียงน้ำจากในแก้วขึ้นไปตามก้านจนถึงยอดดอก และระดับน้ำที่ลดลงนั้นก็เกิดจากการดูดน้ำของต้นไม้ ไม่ได้เกิดจากการระเหย เพราะน้ำมันที่ลอยอยู่ที่ผิวน้ำ สามารถป้องกันการระเหยของน้ำได้ดี
          ในพืชมีระบบลำเลียงน้ำและอาหารเช่นเดียวกับมนุษย์เราที่มีระบบเลือดช่วยในการลำเลียงน้ำและอาหารไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สำหรับระบบลำเลียงในพืชนั้นมีลักษณะเป็นหลอดเล็ก ๆ จำนวนมากมาย ทั้งท่อลำเลียงน้ำและแร่ธาตุ ที่เรียกว่า ไซเลม (Xylem) และท่อลำเลียงอาหาร จำพวก น้ำตาล และกรดอะมิโน ที่สร้างขึ้นจากการสังเคราะห์แสง เรียกว่า โฟลเอม (Phloem) ท่อลำเลียงทั้งสองจะนำน้ำและอาหารกระจายไปทุกส่วนของพืช เพื่อการเจริญเติบโต